เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้"นโยบายคุกกี้
วันที่ 13 มีนาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล เศรษฐบุตร ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากมูลนิธิโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อดำเนินงานภายใต้โครงการ "วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพผู้นำชุมชนและองค์กรชุมชนในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน” พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ภาณุพันธุ์ ประภาติกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณฐิตากานต์ พยัคฆา อ.ดร.ดรัลรัตน์ ใจเที่ยง อาจารย์ประจำสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาชนบท ภาควิชาพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายอิสรานุวัฒน์ บรรพตณรงค์ ผู้ร่วมโครงการวิจัย สังกัดมูลนิธิโครงการหลวง และนางสาวอุษา ยาสิทธิ์ ผู้ช่วยโครงการวิจัย ได้เดินทางเข้าพื้นที่ศึกษาวิจัย สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนชุมชน” ให้กับผู้นำชุมชนและองค์กรชุมชนฯ หมู่ 9 บ้านเมืองอาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง 6 หย่อมบ้าน ได้แก่ แม่ป่าก่อ ห้วยน้ำปี่ แม่ลา หล่ายห้วย เมืองอาง และ ห้วยน้ำอุ่น ณ ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชอินทรีย์บ้านเมืองอาง
การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนชุมชน” ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานโครงการวิจัยฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของผู้นำชุมชนให้สามารถ วิเคราะห์ วางแผน และขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนของตนเองได้ด้วยกระบวนการจัดทำแผนชุมชนที่สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการ และภูมิสังคมของชุมชนในพื้นที่โครงการหลวง
กิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนชุมชน” ประกอบไปด้วย 1) การฝึกทักษะการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก (จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคหรือข้อจำกัด) และ 2) การฝึกทักษะการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน เพื่อร่วมกันระบุปัญหา สาเหตุของปัญหา ผลกระทบของปัญหา และร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสม และแปลงเป็นโครงการ กิจกรรม บรรจุลงในแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยใช้แบบฟอรม์ตารางแผนพัฒนาท้องถิ่น (แบบ ผ.02 รายละเอียดโครงการพัฒนา) สำหรับอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรประชาชน ที่ต้องลงบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อนำไปจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายท้องถิ่น ต่อไป
ในการนี้สาขาวิชาฯ ขอขอบคุณ คุณจตุพร ปารมี หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และคุณพิพัฒพงศ์ พิมพ์โคตร วิทยากรปฏิบัติงานด้านวิชาการเกษตร เป็นอย่างสูง ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์และอำนวยความสะดวกทุกๆ ด้านในการดำเนินกิจกรรมโครงการวิจัยในครั้งนี้ และขอขอบคุณผู้นำชุมชนหมู่ 9 บ้านเมืองอาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง ทุกๆ ท่าน ที่กรุณาให้ความร่วมมือ สละเวลาอันมีค่า และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการฝีกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในครั้งนี้